สายแลนเทพ มีผลต่อเสียง? ตอนที่สอง

Lek Noi
1 min readSep 16, 2021

--

ตอนนี้ยากหน่อยนะครับ เพราะถ้าจะกล่าวถึงอุปกรณ์ มันเป็นเรื่องของสามโดเมนความรู้ ที่มีทฤษฏีการทำงานต่างกัน แต่ต้องเอามาใช้รวมกัน คือ

  • Computer System and Application
  • Computer Networking
  • Digital Audio

เมื่อเรากางผู้เกี่ยวข้องมาบนโต๊ะหมดแล้ว เราก็ต้องหาความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกันของทั้งสามกลุ่มก่อน อย่างแรกเลยที่เห็นชัดคือบนโลกดิจิตอล จะมีการหนดรูปแบบการใช้งาน ที่ชื่อว่าโปรโตคอล (Protocol) หรือผมชอบเรียกว่าภาษาของอุปกรณ์ เมื่ออุปกรณ์ต้องมารับส่งข้อมูลกัน ไม่ว่าจะผ่านระบบเครือข่ายขนาดใหญ่อย่างอินเตอร์เน็ต หรือต่อกันเองสองเครื่องที่เรียกว่า Peer to Peer (P2P) จากเครื่องคอมพิวเตอร์สู่เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือจากเครื่องคอมพิวเตอร์สู่เครื่องพิมพ์ หรือแม้แต่จากเครื่องคอมพิวเตอร์ ไป DAC หรือจากเครื่องเล่นเพลงเล่นแผ่น (อย่างเช่น CD Player/MP3 Player) ไป DAC ถ้าเป็นระบบดิจิตอล ล้วนต้องใช้โปรโตคอลทั้งหมด รวมทั้ง application ด้วยนะครับ เช่นการเปิดเว็ปดูหน้าเพจ หรือเปิดดูเฟสบุ๊ค ต้องใช้โปรโตคอลอย่าง HTTPS, SSL, TLS, QUIC ตัวใดตัวหนึ่ง หรือหลายตัวร่วมกัน

โปรโตคอลนั้นสร้างขึ้นมาเพื่อให้อุปกรณ์สามารถติดต่อสื่อสารพูดคุยกันได้ ดังนั้นเมื่อนำไปใช้ในระบบขนาดใหญ่จำเป็นต้องออกแบบเพื่อให้ได้การยอมรับจากหลายฝ่าย จึงมีการร่วมกลุ่ม หรือสร้างองค์กร เพื่อให้ต่อรอง และรับรองการทำงานของโปรโตคอล โดยมีกลุ่มของโปรโตคอลที่ต้องรู้จัก อย่างเช่น
1. กลุ่มมาตรฐานเปิด (Open Standards) หมายความว่าประกาศใช้งานโดยหน่วยงานที่เป็นกลาง บริษัทผู้ผลิตส่วนใหญ่เข้าร่วมในการออกแบบและพัฒนาจึงเป็นมาตรฐานที่นิยมใช้มาสุด มีหน่วยงานที่กำกับดูแลเช่น
- World Wide Web Consortium (W3C) คนที่ดูแล WWW
- Internet Engineering Task Force (IETF) คนที่ดูแลอินเตอร์เน็ตโปรโตคอล
- International Organization for Standardization (ISO) คนที่ดูแลมาตรฐานการทำงาน มาตรฐานความปลอดภัย
- International Electrotechnical Commission (IEC) คนที่ดูแลมาตรฐานอุปกรณ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์แม่เหล็ก
- Institute of Electrical and Electronics Engineers (IEEE) คนที่ดูแลโปรโตคอลที่ใช้รับส่งกันในอุปกรณ์เครือข่าย เช่น Wi-Fi 1–6, Ethernet (อีเธอร์เน็ต) เป็นต้น
- นอกจากนี้ยังมีการทำงานร่วมกันเช่น ISO/IEC ซึ่งเป็นคนร่วมออกแบบมาตรฐานสายแลน Class A-I หรือ Category 1–7

2. กลุ่มมาตรฐานเฉพาะผู้ผลิต (Proprietary standards) โดยมีผู้ผลิตสินค้าบริษัทหนึ่ง หรือกลุ่มหนึ่งได้ร่วมกันออกแบบและนำไปใช้งานทั้งทางส่วนตัวและขายลิขสิทธิ์นั้นให้คนอื่นเอาไปใช้งานด้วยเช่น
- High-Definition Multimedia Interface (HDMI) เป็นมาตรฐานการส่งวิดีโอภาพและเสียง ที่มีการบีบอัด หรือไม่บีบอัด พัฒนาขึ้นจากมาตรฐานเปิดหลายตัว เป็นการสร้างโดยผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าหลัก 7 รายคือ Hitachi, Sanyo, Philips, Silicon Image, Sony, Technicolor SA, และ Toshiba
- Universal Serial Bus (USB) ตามชื่อครับ เป็นมาตรฐานสำหรับรับส่งอะไรก็ได้ที่อยากส่ง ออกแบบโดยบริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่หลายราย คือ Compaq, DEC, IBM, Intel, Microsoft, NEC, Nortel

3. กลุ่มมาตรฐานเปิดเผยโค้ด (Open Source standards) อันนี้เป็นการรวมกลุ่มกันโดยมีองค์กรหลักที่ผลิตไม่ต่างจากสองกลุ่มแรก แต่มีการนำความรู้ กระบวนการทำงาน และผลิตออกแผ่แพร่แบบเสรี และอนุญาตให้ใครก็ได้นำไปผลิตและพัฒนาต่อ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่อาจจะมีเงื่อนไขเช่นต้องมีการอ้างถึงนะ ว่านำความรู้ของเราไปใช้

ดูแล้วเป็นโลกของระบบคอมพิวเตอร์เนอะ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับอุปกรณ์เครื่องเสียงนิ เดี๋ยวคนฝั่งเครื่องเสียงคงจะบ่นแบบนี้ แต่ไม่ใช่เลยครับผู้ผลิตเครื่องเสียงระบบดิจิตอลเองก็มีโปรโตคอลที่ใช้รับส่งมากมายทั้งที่เป็นมาตรฐานเปิด และมาตรฐานเฉพาะผู้ผลิต เช่น
- AES50 โปรโตคอลมาตรฐานเปิด สำหรับส่งข้อมูลเสียงผ่านสายแลน แม้จะมีพื้นฐานจากอีเธอร์เน็ตโปรโตคอล แต่ส่วนใหญ่ใช้ในวงแลนขนาดเล็ก หรือใช้แบบ P2P
- Dante โปรโตคอลมาตรฐานเฉพาะผู้ผลิต สำหรับส่งข้อมูลเสียงผ่านสายแลนเช่นเดียวกัน แต่ทำงานบนไอพีโปรโตคอล ดังนั้นจึงทำงานในระบบแลนขนาดใหญ่ได้
- AVB โปรโตคอลมาตรฐานเปิดเผยโค้ด ดูแลและกำกับโดย IEEE ใช้สำหรับส่งข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายขนาดใหญ่เล่นเดียวกับ Dante
ทั้งนี้จะมีโปรโตคอลอื่นด้วยที่นิยมใช้งาน แต่เป็น P2P เช่น S/PDIF สำหรับข้อมูลเสียง, serial digital interface (SDI) สำหรับส่งข้อมูลภาพ

จะเห็นว่าบนโลกของดิจิตอล ไม่ว่าเป็นระบบเสียง หรือระบบคอมพิวเตอร์ จำเป็นต้องใช้โปรโตคอลทั้งหมด ดังนั้นก่อนจะถกอะไรกัน ควรท่องให้ขึ้นใจเลยนะครับ ว่าสายสัญญาณจะมีผลหรือไม่ขึ้นกับโปรโตคอลเป็นสำคัญ เราจะถกกันโดยขาดความเข้าใจในตัวโปรโตคอลที่ใช้งานไม่ได้โดยเด็ดขาด โดยเฉพาะฝั่งคอมพิวเตอร์ที่มักบอกว่าสายแลนไม่มีผล และตัวเองทำงานโดยอ้างอิงและวิเคราะห์โปรโตคอลทุกวัน แต่กลับเถียงโดยไม่ดูความเป็นไปได้ของโปรโตคอลฝั่งเครื่องเสียง

ผมสรุปตอนสองไว้แค่นี้ก่อนดีกว่าครับ เดี๋ยวจะยาวเกิน สรุป
สายแลนมีผลต่อเสียงหรือไม่ให้ดูที่โปรโตคอลที่ใช้
จบตอนสองครับ

--

--

Lek Noi

คนธรรมดา คนหนึ่งที่ชอบด้านไอที และรักในการขีดๆ เขียนๆ